วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2553

“ไวโอลิน” และประสบการณ์ทางดนตรีตะวันตกของ รศ.ดร.โกวิทย์ ขันธศิริ






ข้าพเจ้าได้เกริ่นไว้ในวารสารศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 16,2548 ปีที่ 11 เรื่องเกี่ยวกับชีวิต ประสบการณ์ด้านดนตรีตะวันตก โดยเฉพาะประสบการณ์การเรียน การฝึกการแสดงไวโอลินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งข้าพเจ้าพยายามเรียงลำดับจากอดีตเท่าที่จำได้ ดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้า สนใจเรื่องดนตรีตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ ถูกคุณพ่อและคุณแม่บังคับให้อยู่แต่ในบ้าน โดยให้ช่วยทำงานบ้านและฝึกซ้อมดนตรี ในระยะแรกคุณพ่อและคุณแม่จะจัดการเวลาให้ ทั้งการเรียน และการซ้อมดนตรี ซึ่งเป็นหลักจิตวิทยาชาวบ้านที่ไม่อยากให้ลูกไปซุกซนในตลาด (ตลาดพลู) กับเพื่อนฝูงซึ่งอาจจะกลายเป็นเด็กเกเร ท่านจึงปลูกฝังให้อยู่แต่ในบ้านด้วยการเรียนการฝึกดนตรีแทน

เนื่อง จากคุณพ่อเล่นดนตรีได้บ้างและเป็นนักสร้างเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ซอด้วง จนข้าพเจ้าอายุประมาณ 10 ขวบ ท่านก็ทนข้าพเจ้ารบเร้าให้สร้างไวโอลินเพื่อฝึกเล่นคู่ไปกับซอไทย ซึ่งท่านก็หาวิธีทดลองทำ ดังข้าพเจ้าจะขอบอกเล่าเรื่องของคุณพ่อในความมานะอดทนดังนี้

จาก คำพูดของท่านเมื่อสมัยท่านนั่งทำไวโอลิน ตั้งแต่เช้ามืดจนมืดคำ เพื่อค้นคว้าและทดลองโดยเฉพาะความไพเราะของเสียงและความสวยงามของไวโอลิน ท่านกล่าวไว้ว่า

“สิ่งที่ดีเลิศเลอ ทำไมต้องเป็นฝีไม้ลายมือของฝรั่งมังค่าเท่านั้น คนไทยจะทำไม่ได้เชียวหรือ”

ท่าน ก็เลยได้แรงบันดาลใจและกำลังใจให้ท่านได้ผลิตไวโอลิน โดยให้ลูกเล่นและทดสอบเสียง และถามข้าพเจ้ามาโดยตลอดว่าเสียงเป็นเช่นไร เช่น ดัง เบา หวาน มีพลัง ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องหาคำตอบให้ท่านอยู่ทุกวัน ไม่ว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ จนในที่สุด ท่านสามารถผลิตไวโอลินจากการคัดเลือกไม้ โดยเฉพาะไม้สน ไม้ตะแบก ไม้ยม หรือแม้แต่ฉำฉาจากรังไม้ที่ส่งมาจากต่างประเทศ โดยดูจากลายไม้ด้านหน้า และเลือกไม้สำหรับด้านหลังไวโอลิน ท่านได้ทำไปจำหน่ายบ้าง ส่วนข้าพเจ้าก็เลือกเล่นตามใจชอบ โดยคุณพ่อจะดีใจมากถ้าได้นำไวโอลินของท่านไปแสดงคอนเสริต แต่เสียดายที่ข้าพเจ้าทดลองเสียงไวโอลินให้ท่านได้ในขณะที่อยู่ในประเทศไทย เท่านั้น เพราะต้องศึกษาอยู่ในต่างประเทศเกือบ 11 ปี

อย่าง ไรก็ตาม คุณพ่อก็ผลิตไวโอลินมาตลอดชีวิตแม้ตัวข้าพเจ้าจะอยู่ต่างประเทศ ข้าพเจ้าเองด้วยความรักและบูชาคุณพ่อ ได้รู้ซึ่งความมานะพยายามของคุณพ่อที่มีความต้องการสร้างไวโอลินให้มีคุณภาพ ในระดับโลกให้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอสูตรลับแห่งควมสำเร็จในการสร้างไวโอลินจากนักสร้างไวโอลินคน หนึ่งเป็นชาวเยอรมัน แต่มีชื่อเสียงในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงที่ข้าพเจ้ากำลังศึกษาการเล่นไวโอลินอยู่ ณ สถาบันดนตรีสูงสุด คือ “The Royal Conservatory Of Music”

ใน ระยะแรกๆของการศึกษา ข้าพเจ้าโดยทุนรัฐบาลฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกขณะนั้น ประมาณปี พ.ศ.2510 โชคดีที่ท่านได้ทดลองเล่นไวโอลินของคุณพ่อและให้ข้าพเจ้าเล่นให้ฟัง ช่างผู้นั้นคือ Mr.Stuber และครอบครัว ได้ยอมรับถึงความประณีต สวยงาม และน้ำเสียง แต่กระซิบว่า “ถ้าคุณพ่อได้สูตร(ความลับ)ของฉันไปและนำไม้ที่ทำไวโอลินที่ท่านทำมาเกือบ ตลอดชีวิต ไปมอบให้คุณพ่อลองทำดู เสียงจะยิ่งมีพลังและไพเราะยิ่งขึ้น” นายช่าง Stuber บอกว่า “ถ้าไม่รักเธอจริงและไม่ได้เห็นความสามารถของคุณพ่อเธอฉันจะไม่ยอมให้ความ ลับนี้เลยนะ”

ข้าพเจ้าดีใจมาก ประจวบกับมีโครงการกลับไปเยี่ยมเมืองไทยและครอบครัว เนื่องจากเก็บเงินในจากทุนที่เรียนและหาเงินจากงานพิเศษ เช่น สอนดนตรีไทย รายได้จากงานพิเศษจากการทำงานบ้านในบ้านท่านเอกอัคราชทูต เล่นดนตรีตามงานต่างๆกับเพื่อนวงเชมเบอร์มิวสิก พอได้ค่าเครื่องบิน

อย่าง ไรก็ตามข้าพเจ้ายังมีข้อผูกพันกับทุนรัฐบาลฮอลแลนด์ซึ่งต้องกลับมาศึกษาต่อ ใน Royal Conservatory of Music โดยต้องสอบผ่านวิชาทฤษฎี ประวัติและเตรียมงานแสดง โดยต้องเลือกเพลงที่อาจารย์แนะนำเพลงที่เราถนัดที่สุด และมีความยากเป็นมาตรฐานของสถาบันสูงสุดแห่งนี้ โดยมีกำหนดให้สำเร็จในอีก 2 ปี ข้างหน้า ข้าพเจ้าจะต้องซื้อตั๋วเครื่องบินข้ากลับไว้ด้วยจากเงินเก็บส่วนตัว คุณพ่อและคุณแม่ไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินและทุนเรียนแบบ พ.ก.(พ่อกู) เหมือนเศรษฐีท่านอื่นๆ

ข้าพเจ้า จึงต้องทำงานหนักในการเก็บเงินพิเศษไปในตัวแต่รู้สึกว่าชีวิตมีค่า และมานะมาก โดยเฉพาะมีความคาดหวังที่จะเอาชนะความสามารถในการเล่นไวโอลินให้เก่งกว่า เพื่อนคน Dutch และประเทศอื่นๆ ให้ได้ ความพยายามนี้เอง ครูของข้าพเจ้า โดยเฉพาะอาจารย์ประจำสถาบันที่สอนไวโอลิน คือ Professor J. Rontgen เชื้อสายเยอรมัน บุตรชายนักประพันธ์เพลงที่มีชื่อคนหนึ่งของประเทศเยอรมันจึงขอทุนรัฐบาลโดย ทำจดหมายแนะนำข้าพเจ้า และผลการเรียนในปีที่ 2 ของสถาบันแห่งนี้ขึ้น

ข้าพเจ้า คงต้องยุติสำหรับบทความซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องของไวโอลิน คุณพ่อผู้สร้างไวโอลินจนมีชื่อเสียง รวมทั้งความสนใจเกี่ยวกับไวโอลินและการศึกษาในเบื้องต้นในต่างประเทศไว้ เพียงเท่านี้ก่อน ซึ่งในด้านประสบการณ์ของข้าพเจ้าทั้งในเมืองไทย ต่างประเทศ ผลงานต่างๆ ข้าพเจ้าขอผลัดไปเขียนในฉบับต่อไป

หมาย เหตุ : ไวโอลินสร้างโดยคุณพ่อสมบุญ ขันธศิริ สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2512 ณ กรุงเทพฯ เป็นตัวที่ข้าพเจ้ากลับจากการสำเร็จการศึกษาจากกรุงเฮก แล้วนำมาอัดจานเสียงของนักไวโอลินคนแรกของไทย ชื่อชุด “Serenade” โดยมี อ.ณัฏ์ ยนตรรักษ์ เล่น Piano ประกอบ บางท่านคงได้ฟังและจำได้


*
อ้างอิง : http://www.oknation.net/blog/kasembunditcult/2007/05/16/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น