นักวิชาการชี้ ดนตรี ทำให้เด็กฉลาดขึ้น ช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก แนะพ่อแม่-ครู ใช้ดนตรีกับเด็กเป็นสื่อการเรียนรู้ เน้นเล่นกิจกรรมดนตรีอย่างอิสระ ระบุ ควรให้เด็กฟังดนตรีที่เหมาะสม หากมีเนื้อหาล่อแหลม รุนแรงเกินไป จะส่งผลเสียทั้งด้านอารมณ์ ความนึกคิด และจิตใจต่อเด็ก
ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ อาจารย์คณะศิลปนิเทศน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว ในการประชุมคณะทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนคณะกรรมการประสานงานนโยบายการส่ง เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในหัวข้อ “ดนตรีกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย” จัดโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาในประเทศไทยมุ่งเน้น การเรียนการสอนให้เด็กมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ผ่านการอ่านและการท่องจำ แต่ละเลย
การ พัฒนากระบวนการฝึกให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะความคิดสร้างสรรค์จะส่งดีต่อเด็กมหาศาล อาทิ
1) เด็กมีความคล่องตัวในการคิด เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็ว ฉับไว สามารถคิดหาทางออก หรือแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
2) มีความคิดยืดหยุ่น ไม่คิดแบบตายตัว หรือคิดได้หลายประเภท หลายแง่มุม
3) มีความคิดริเริ่ม แปลกใหม่
ไม่ซ้ำใคร และ
4) มีความละเอียดลออ ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนักคิดหรือนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ล้วนพัฒนางานของตนผ่านการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทั้งสิ้น
ดร.สุพาพร กล่าวว่า จากรายการวิจัยในหลายประเทศระบุตรงกันว่า เครื่องมือใน การพัฒนากระบวนการฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กได้ง่ายและดีที่สุด ก็คือการใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพราะเป็นกิจกรรมที่สนุก เด็กจะชอบมากที่สุด โดยวัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ เป็นวัยที่เด็กมีการเรียนรู้มากที่สุด สมองเด็กวัยนี้จะเจริญเติบโตโดยมีการสร้างเครือข่ายของสมองและพัฒนาจุด เชื่อมต่อระบบเซลล์ประสาทมากกว่าช่วงอื่นๆ ของชีวิต หากถูกปิดกั้นหรือไม่ได้รับการส่งเสริมที่ดีในช่วงนี้ ก็จะทำให้เด็กเสียโอกาสในการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตน
“จาก การศึกษาพบว่า ดนตรีส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ การใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยตรง กิจกรรมดนตรีและการเคลื่อนไหวจะช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายและขวาให้ทำงานอย่าง สมดุล ขณะฟังดนตรีเด็กจะรู้สึกผ่อนคลายปล่อยความคิดจินตนาการไปตามบทเพลง ซึ่งส่งผลดีต่อสมองซีกขวา ส่วนตัวโน๊ตหรือจังหวะเคาะดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายด้าน ภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดังนั้น ดนตรีจึงช่วยพัฒนาความฉลาดของเด็กได้อย่างแท้จริง” ดร.สุภาพร กล่าว
ดร.แพง ชินพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านดนตรี โรงเรียนบ้านขนมดนตรี กล่าวว่า ดนตรีเป็นส่วนประกอบของกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเด็ก ดนตรีสำหรับเด็ก คือ ดนตรีที่เด็กแสดงออกตามความพร้อมการรับรู้ และตามความสนใจของเด็กแต่ละคน กิจกรรมของดนตรีสำหรับเด็กมีรูปแบบ เช่น การฟัง การร้องเพลง การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ การเล่นเครื่องดนตรี ฯลฯ ซึ่งการเรียนการสอนหรือการทำกิจกรรมประกอบดนตรีในลักษณะการออกคำสั่งหรือ เน้นให้เด็กทำเลียนแบบ เช่น ร้องเพลง เต้นประกอบจังหวะ หรือโบกไม้โบกมือตามคุณครู จะทำให้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กเกิดขึ้นน้อยมากหรืออาจไม่เกิดเลย เมื่อเทียบกับให้เด็กได้เต้นรำ เคลื่อนไหว แสดงท่าทางตามจินตนาการของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้มากกว่า
ดร.แพง กล่าวต่อว่า พ่อแม่ และคุณครูจึงควรใช้ดนตรีเป็นสื่อการสอนเพื่อช่วยเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้านต่างๆ เช่น ช่วยจัดกิจกรรมทางดนตรีให้เด็ก เน้นให้เด็กใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเองอย่างเต็มที่ เช่นให้ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรีอย่างเป็นอิสระตามแต่ใจของเด็ก รวมทั้งจัดหาบทเพลงที่ดี เหมาะสมกับเด็ก ให้ฟัง เช่นเพลงสำหรับเด็ก เพลงกล่อมเด็ก เพลงบรรเลงคลาสสิก ไม่ควรให้เด็กฟังเพลงที่มีเนื้อหาล่อแหลม ใช้ถ้อยคำหรือมีจังหวะรุนแรง เพราะจะส่งผลเสียต่อความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และจิตใจของเด็กได้ ที่สำคัญไม่ควรแสดงอาการไม่พอใจหรือขบขันหากเด็กคิดท่าทางสร้างสรรค์แปลกๆ แต่ใช้วิธีแนะนำหรือตักเตือนหากเห็นว่าเด็กแสดงทางทางไม่สุภาพหรือหยาบคาย แทน
*
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น