วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นักแหกกฎดนตรี


ประทีป สุพรรณโรจน์





*












"คุณรู้ไหม...การเป็นวาทยกรดูเหมือนง่าย แต่จะทำยังไงให้นักดนตรีเล่นได้ถูกต้องและดี

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นี่คือหน้าที่ของคนควบคุมวง ส่วนที่ไปยืนท่าเท่ๆ นั่นหน้าที่เสริม"

แม้ดนตรีคลาสสิกจะมีแบบแผนและกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ถ้ามีความเข้าใจดนตรีอย่างแตกฉาน ก็สามารถแหกกฎได้ ซึ่งเรื่องนี้ ประทีป สุพรรณโรจน์ หัวหน้าแผนกดนตรี กองดุริยางค์ทหารบก กล้าที่จะทำเช่นนั้น

ทำไม คนดนตรีที่ร่ำเรียนตามแบบแผนคลาสสิก ทั้งด้านการควบคุมวง การประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน จึงกล้าที่จะแหกกฎในหลายๆ เรื่องของดนตรี

ปัจจุบันประทีปมีหน้าที่หลายบทบาท นอกจากงานประจำที่กองดุริยางค์ทหารบก เขายังยังเป็นผู้อำนวยเพลงและผู้เรียบเรียงเพลงวง ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตรา ผู้อำนวยการเพลงไทยแลนด์ฟิลฮาร์โมนิก ออร์เคสตรา, อาจารย์สอนดนตรีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกำลังเตรียมสอบเข้าเรียนปริญญาเอก ด้านการควบคุมวงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เส้นทางดนตรีของประทีปก็ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ เริ่มจากความเพียร หมั่นฝึกฝน กล้าคิดแตกต่าง และชอบซักถามครูบาอาจารย์

ตอน ที่เขาได้ทุนไปเรียนสาขาดนตรีสากลที่มหาวิทยาลัย Kingston ประเทศอังกฤษ ประทีปเป็นคนไทยคนเดียวที่เรียนด้านนี้ แรกๆ พูดภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น พอปรับตัวได้แล้ว ก็สอบได้ที่หนึ่งของชั้นเรียนมาตลอด (เคยสอบได้ที่สองครั้งเดียว) เขาทำให้เพื่อนฝรั่งทึ่งกับวิธีคิดการเรียบเรียงเสียงประสานและการประพันธ์ เพลง และได้รางวัลมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศการประพันธ์เพลงมาร์ช The Commandant S Prize ,รางวัลชนะเลิศการเรียบเรียงเสียงประสานเพลงป๊อปปูล่า The Tomlison Award ฯลฯ

และเขาทำให้ชาวต่างชาติได้รู้ว่า คนไทยก็สร้างสรรค์ดนตรีได้ไม่แพ้ฝรั่ง ตอนที่ประพันธ์เพลงมาร์ชจนได้รับรางวัล เขาบอกว่าเพราะความคิดถึงบ้าน ก็เลยใช้บทเพลงพระราชนิพนธ์ แสดงถึงความทระนงที่เกิดเป็นคนไทยจากก้นบึ้งของหัวใจ

ล่าสุดเมื่อ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า "ลองนำเครื่องดนตรีไทยเล่นร่วมกับวงออร์เคสตราได้ไหม"

เขา ก็ลองทำ จนได้แสดงในงานประชุมดนตรีระดับโลกครั้งที่ 28 ที่ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้เยาวชนไทยได้รับการตบมืออย่างเกรียวกราว

ขอย้อนไปถึงวัยเด็กสักนิด มีใครในครอบครัวคุณเล่นดนตรีบ้าง

ไม่ มี แต่สิ่งที่ผมค้นพบตอนหลังก็คือ พ่อผมอยากเล่นดนตรี แต่ปู่ไม่ให้เล่น ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยหมอศิริราชที่บอกว่า ถ้าสิ่งใดที่พ่อแม่อยากทำตอนเด็ก และไม่ได้ทำ ดีเอ็นเอก็จะตกมาถึงลูกหลาน ผมเป็นคนเดียวในบ้านที่ได้เรียนดนตรี ผมเป็นคนสุพรรณ ฐานะทางบ้านไม่ดี ได้เข้าเรียนโรงเรียนดุริยางค์ทหารบก พ่อแม่ไม่ต้องส่งเรียน เพราะมีเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือน

นอกจากเล่นดนตรี ผมยังอยากประพันธ์เพลงและเขียนเพลงด้วย แต่ตอนนั้นที่โรงเรียนไม่ได้สอน ผมก็ใช้วิธีซักถามครู ฝึกทดลองทำ เราเป็นนักเรียนรุ่นพี่ก็ให้รุ่นน้องลองเล่น ผิดถูกไม่รู้ ผมจำได้ว่า ครูคนหนึ่งบอกผมประโยคหนึ่งว่า "ถ้าเมโลดี้วิ่ง เสียงประสานหยุด ถ้าแนวทำนองหยุด แนวเสียงประสานวิ่ง" หลังจากนั้นผมก็เอาตรงนั้นมาตีความ ผมเรียนแบบครูพักรักจำ พอไปเรียนที่อังกฤษทำให้ผมเข้าใจมากขึ้น ได้เรียนด้านเรียบเรียงเสียงประสานเป็นเวลาสามปี การได้เรียนต่างประเทศเหมือนได้เห็นแนวทางชีวิตตัวเองชัดขึ้น ทั้งการเรียบเรียงเสียงประสาน ประพันธ์เพลงและหัดควบคุมวง

คุณรู้ ไหม...การเป็นวาทยกรดูเหมือนง่าย แต่จะทำยังไงให้นักดนตรีเล่นได้ถูกต้องและดี นี่คือหน้าที่ของคนควบคุมวง ส่วนที่ไปยืนท่าเท่ๆ นั่นหน้าที่เสริม

ก่อนเดินทางไปเรียนต่างประเทศ คุณก็คิดว่าชาวต่างชาติคงเก่งกว่าคนไทย ?

ผม ก็เป็นคนหนึ่งที่เทิดทูนพวกต่างชาติมาก นึกว่า พวกเขาเก่ง แต่พอผมไปเรียนก็ได้รู้ว่า บางเรื่องเขาก็ไม่รู้มากไปกว่าเรา ไม่ได้เก่งทุกคน ถ้าคนไหนเก่ง เราก็เรียนรู้จากเขา พอผมไปเรียนในอังกฤษ ก็ได้รู้ว่า คนไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าต่างชาติ แม้ผมจะเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล แต่ผมก็เก็บเงินเรียนดนตรีเพิ่มเติมนอกมหาวิทยาลัยด้วย เพราะวิธีคิดของคนสอนต่างกัน

พอไปเรียนที่อังกฤษ ได้เรียนทั้งการประพันธ์เพลง การเรียบเรียงเสียงประสาน และฝึกเป็นวาทยกร ทำให้คุณได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ?

ตอน เรียนที่โรงเรียนดุริยางค์ทหารบก ก็คิดว่า เล่นดนตรีเพื่อการดำรงชีพ แต่พอไปเมืองนอกทำให้มีวิสัยทัศน์ เราตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องขึ้นไปให้ถึงยอดเขา พอขึ้นไปถึงยอดเขา ก็ได้รู้ว่ายังมียอดเขาอีกหลายลูกที่เราต้องไปให้ถึงอีก

ผมจำได้ ว่า ตอนอยู่ที่อังกฤษ ผมรู้สึกคิดถึงบ้าน ก็เลยนึกถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ คิดถึงบ้าน แล้วนำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ส่งประกวดก็ได้รางวัลชนะเลิศการประพันธ์เพลงมาร์ช ตอนนั้นผมใช้เพลงแนวละตินเรียบเรียงเสียงประสาน

เมื่อสิบปีที่แล้ว คุณเป็นคนไทยคนเดียวที่เรียนดนตรีสากลในมหาวิทยาลัย Kingston ?

แรกๆ ผมก็ถูกมองเหมือนกะเหรี่ยง จนผมสอบได้คะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง เพื่อนฝรั่งถึงกับอึ้ง ผมได้ที่หนึ่งตลอด เคยสอบได้ที่สองครั้งหนึ่ง ช่วงแรกผมก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ อาจารย์พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่อง แต่พออาจารย์เอางานมาให้ทำ เรื่องดนตรีผมรู้หมด

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมทำงานไปส่งอาจารย์ ผมก็คิดตามตำราเหมือนพวกฝรั่ง แต่พอทำงานอีกครั้ง ผมทำแหกกฎ ไม่ทำตามตำรา แต่อยู่ในมาตรฐานของตำรา ผมฉีกกฎดนตรี อย่างเวลาประพันธ์เพลงมาร์ชมีกฎว่า ห้ามใช้บันไดเสียงไมเนอร์ ใช้ได้เฉพาะเสียงเมเจอร์ ผมใช้บันไดเสียงไมเนอร์ แต่พอวงดนตรีลองเล่นปรากฏว่าออกมาดีและประสบความสำเร็จ

ไม่ทำตามตำรา แต่สามารถเรียบเรียงเสียงประสานออกมาได้ดี คุณมีวิธีคิดอย่างไร

อย่าง เพลงของยิว เวลาเล่นดนตรีด้วยบันไดเสียงไมเนอร์จะให้อารมณ์ที่ลึกซึ้ง เคร่งขรึม จริงใจและหนักแน่น แต่ถ้าใช้บันไดเสียงเมเจอร์จะให้ความรู้สึกถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรี ถ้าเปรียบเทียบกับคน บันไดเสียงเมเจอร์ก็เหมือนคนหน้าตาดี แต่ถ้าเป็นบันไดเสียงไมเนอร์ นอกจากหน้าตา แล้วยังดูจริงใจ ดังนั้นเพลงที่ผมเรียบเรียงเสียงประสาน ผมจะใช้ทั้งบันไดเสียงไมเนอร์และเมเจอร์รวมกัน เพราะในชีวิต ถ้าเราเป็นคนหน้าตาดี จิตใจก็ต้องดีด้วย

เวลาผมประพันธ์เพลงมาร์ช เพลงพวกนี้บอกถึงความรักชาติที่ออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ จึงใช้บันไดเสียงไมเนอร์และเมเจอร์ แสดงถึงความรักชาติและรักจากใจ

แล้ววิธีการนำเครื่องดนตรีไทยมาผสมผสานกับวงออร์เคสตรา คุณทำอย่างไร

กลับ มาเมืองไทยกว่าสิบปีแล้ว ผมเคยเอาเพลงไทยมาเล่นแบบวงสากล เพลงแรกที่เรียบเรียงเสียงประสานใหม่คือ เพลงลาวดวงเดือน ผมชอบทำดนตรีที่แหกกฎ ไม่อยากทำแบบเดิม อย่างดนตรีสากลมีกฎห้ามใช้คอร์สโน้น คอร์สนี้ ผมก็เอามาใช้ ผมไม่ได้คิดเรื่องฟังก์ชันอย่างเดียว ผมจะคิดเรื่องเสียงด้วย หากใช้เสียงลักษณะนี้ก็ทำให้อารมณ์ดนตรีเปลี่ยนไป แม้วิธีการของผมหลักทฤษฎีจะผิด แต่ผู้เรียบเรียงเสียงประสานในยุคใหม่ก็ใช้ ไม่ใช่ว่าผมนึกจะใช้ก็ใช้ ผมก็ศึกษาข้อมูลด้วย

ผมเล่นเพลงลาวดวง เดือนด้วยวงออร์เคสตรา จนอาจารย์สุกรี เจริญสุข ถามผมว่า คุณสามารถทำวงออร์เคสตราเล่นร่วมวงกับจะเข้ได้ไหม ผมก็เรียนแนวตะวันตกมามากมาย ผมก็คิดว่า จะเอาวัฒนธรรมตะวันตกและเทคโนโลยีมารับใช้วัฒนธรรมไทย แม้จะเข้จะจูนเสียงไม่เหมือน มีโน้ตอยู่สองตัวของเครื่องดนตรีไทยที่ไม่เข้ากับดนตรีสากล ผมก็เลยคิดว่า ถ้าดนตรีไทยเล่นโน้ตสองตัวนี้ ดนตรีสากลก็จะไม่เล่นโน้ตสองตัวนั้น เพราะโน้ตตัวอื่นสามารถจูนได้ใกล้เคียงกัน ครั้งแรกที่ผมเอาจะเข้มาเล่นร่วมกับออร์เคสตราใน เพลงจีนขิมใหญ่ แล้วก็เดี่ยวพญาโศก และกราวใน

คุณคงมีแนวคิดที่จะเอาเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่นๆ มาเล่นร่วมกับวงดนตรีสากล ?

ที่ คิดไว้อีกคือ ระนาด บางคนก็คิดว่า เราต้องจูนระนาดใหม่ แต่สำหรับผมคิดว่า ระนาดไทยเล่นกับเครื่องดนตรีสากลได้ ผมก็คิดว่า ถ้าระนาดเล่นสเกลหรือบันไดเสียงนั้น พอมาเล่นกับสากลก็ต้องเปลี่ยนบันไดเสียงของสากลให้เข้ากับระนาด ไม่ใช่จูนระนาดเข้ากับวงสากล เพราะระนาดก็ต้องมีตัวตน ผมก็ใช้วิธีเดียวกับการเล่นจะเข้

และในอนาคตผมคิดจะเอาซอด้วงตัว เดียวมาเล่นร่วมกับวงดนตรีสากล อย่างในอเมริกาก็ยอมรับดนตรีจีน ผมก็คิดว่า ดนตรีไทยก็ไม่ได้ด้อยกว่าดนตรีจีน อีกอย่างผมคิดว่า วัยรุ่นสมัยใหม่ยังไม่รู้ว่า ดนตรีไทยเป็นอย่างไร ผมไม่อยากให้อีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าดนตรีไทยหายไป ผมก็เลยคิดว่า จะทำอย่างไรให้ดนตรีไทยได้เล่นกับวงออร์เคสตรา เพื่อให้ดนตรีไทยมีคุณค่า

ดนตรี ไทยที่ผมนำมาผสมผสานกับวงออร์เคสตรา ก็ต่างจากวงบอยไทยที่เป็นป็อปปูล่า และต่างจากออร์เคสตราวงไหมไทยจะออกโทนหวานๆ แต่ผมจะมีลูกดุดัน และฉีกแนว วงดร.แซ็กเชมเบอร์ที่ไปเล่นที่อิตาลี ก็เป็นงานแนวทดลอง วงของเราถูกคัดจากหกพันมหาวิทยาลัยทั่วโลก เราได้อยู่ในสามร้อยวงที่เลือกเข้าไปเล่นในวันท้ายๆ ที่ถือว่า เป็นวงที่ดีที่สุด

ผมอยากผลักดันให้ดนตรีไทยเป็นที่รู้จัก อย่างเราไปเล่นที่อิตาลี วงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตรา บรรเลงเพลงไทยเกือบแปดเพลง ทั้งๆ ที่ฝรั่งไม่รู้จักเพลงไทยเลย แต่พวกเขาประทับใจ นี่คือความยาก พวกเขาตบมือขอให้เล่นอีก เราก็แถมเพลงสากล เพื่อให้เห็นว่า นอกจากเพลงไทยแล้ว เราสามารถเล่นเพลงสากลได้ด้วย

การทำงานกับคนรุ่นใหม่ คุณมีวิธีการดึงศักยภาพพวกเขาอย่างไร

เทคโนโลยี ที่คนรุ่นใหม่เรียนรู้ ผมก็ต้องรู้ ผมไปนั่งเรียนปริญญาโท วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางวิชาผมนั่งเรียนกับลูกศิษย์ ผมอยากให้เด็กเห็นว่า อาจารย์ก็ยังใฝ่หาวิชาความรู้ ทั้งๆ ที่ผมเรียนการประพันธ์เพลงมาแล้ว แต่ผมอยากเรียนรู้วิสัยทัศน์ เพราะการเรียนไม่มีวันจบสิ้น การเรียนเป็นโลกของจินตนาการ แต่พอเรียนจบแล้ว นั่นคือโลกของความจริง และผมกำลังจะสอบเรียนปริญญาเอก

คุณเชื่อว่า พรสวรรค์สร้างได้ ?

พรสวรรค์ เกิดจากการฝึกฝนบ่อยๆ แต่บางคนอาจมีดีเอ็นเอพิเศษคือ มีพรสวรรค์ แต่ถ้าไม่ฝึกฝนเรียนรู้ก็ไม่เก่ง และผมไม่เชื่อว่า คนอายุมากเรียนดนตรีไม่ได้ ผมเคยเจอคุณป้าวัย 60 ปีเพิ่งมาหัดเรียนเปียโน ปัจจุบันเล่นดนตรีเก่งมาก บางคนใจรักหมั่นฝึกฝนก็เล่นได้ดี ยกตัวอย่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพิ่งมาหัดเรียนดนตรีไม่เกินสิบปี ท่านมีใจเพลง ก็ส่งน้องๆ ในโรงเรียนดุริยางคศิลป์ทหารบกไปสอนท่านที่บ้าน ปัจจุบันท่านแต่งทำนองเพลงไว้ 60-70 เพลง บางเพลงมีความไพเราะให้ความหมายดีๆ

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเองก็ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน ท่านอาจจะร้องเพลงได้ ท่านหัดเล่นเปียโนก่อน แล้วหัดแต่งเพลง บางคนบอกว่า ดนตรีเล่นยากต้องใช้เวลา ถ้ามาเรียนตอนแก่ก็ช้าเกินไป ผมคิดว่า ไม่มีอะไรช้าเกินไป

ตอนแรกๆ ที่คุณบอกว่า พอปีนถึงยอดเขาที่สูงที่สุดแล้ว ก็เห็นยอดเขาอีกหลายลูก คุณจึงต้องปีนต่อ เหมือนกับชีวิตคุณไหม ?

ผม กำลังจะสอบเข้าเรียนปริญญาเอกด้านการควบคุมวง ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่มีคนบอกว่า ทำไมไม่เรียนต่างประเทศ ผมเคยเรียนในต่างประเทศแล้ว ผมเรียนในเมืองไทยดีกว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะอาจารย์ที่สอนก็บินมาจากต่างประเทศ และผมก็เรียนเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆ

เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
 
*
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 25 ตุลาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น