วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"นักดนตรีก็เหมือนพ่อครัวปรุงอาหาร" สถาปนิก "ต้อม Jazz Seen" กับ ดนตรีที่มิใช่แค่ความบันเทิง


"ผมอยากจะเปิดเพลงให้คุณฟังเพลงนึง"...



"Träumerei" by Robert Schumann, played by Vladimir Horowitz

เมื่อสิ้นเสียงเพลง "ทรอยเมอไรย์" (Träumerei) หรือ "ความฝัน" ชื่อเพลงในภาษาเยอรมันของโรเบิร์ต ชูมันน์  พรหมมินท์ สุนทระศานติก หรือ "ต้อม Jazz Seen" ก็เริ่มเล่าให้เราฟังว่า

"ก่อนหน้าที่จะมีคอนเสิร์ตนี้ที่กรุงมอสโคว์ มีคนไปเข้าแถวรอซื้อบัตรคอนเสิร์ตยาวเหยียดเลย แล้วก็มีคนไปสัมภาษณ์แม่ค้าขายผลไม้คนหนึ่งที่ยืนต่อแถวอยู่ แม่ค้าคนนี้เก็บเงินเป็นเดือนๆเพื่อจะมาซื้อบัตรดูตาแก่คนนี้เล่น ในวิดีโอเราจะเห็นทั้งเด็กเล็กๆ คนสูงอายุ  คนมีฐานะ คนจน เห็นผู้คนหลากหลายมากที่เข้าไปซึมซับสุนทรียภาพของดนตรี แล้วบางคนนี่น้ำตาไหลพรากเลย นี่เป็นคุณภาพของคนที่น่าอิจฉามาก ถ้าดนตรีมีอิทธิพลที่ทำให้คนรู้สึกได้ขนาดนี้ แสดงว่าดนตรีมีพลังอะไรบางอย่างซึ่งส่งผ่านมาให้คนรับรู้ได้"


"คุณลองดูภาพนี้สิครับ...


ภาพ "WHEATSTACKS END OF SUMMER"  โดยศิลปิน CLAUDE MONET (ค.ศ. 1890)


"ในภาพๆนี้ ศิลปินพยายามจะเขียนแสงสุดท้ายของวัน แสงที่มันปรากฏอยู่บนผิวดิน บนกองฟาง บนท้องฟ้า เราไม่ต้องไปใช้ความคิดอะไรเลย เราใช้แค่ความรู้สึก ศิลปินจับความรู้สึกเหล่านี้ได้  เขาเขียนสิ่งที่มัน beyond words (เกินกว่าที่จะบรรยายเป็นถ้อยคำ) มันเป็นสภาวะอะไรบางอย่างที่เขาพยายามจะสื่อออกมาให้เรารู้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เขาเองก็ไม่อาจอธิบายด้วยคำพูดได้"

"ผมว่าทุกคนก็เคยมีสภาวะอย่างนี้ ทั้งนั้น อย่างเวลาเราขึ้นไปบนภูกระดึงเพื่อจะดูพระอาทิตย์ขึ้น พอเราไปถึงหน้าผา เห็นแสงเปลี่ยน เราจะรู้สึกว่ามันสวยมาก เรามีความสุขมาก และเราอยากจะอธิบายอะไรบางอย่าง เราโทรบอกเพื่อนเพื่อบอกว่ามันสวยมากเลย เพื่อนก็ไม่เข้าใจแล้วถามว่ามันสวยยังไงหรอ คือมันสวยเกินกว่าที่เราจะใช้คำพูดอธิบายได้ สภาวะแบบนี้ คนที่เป็นจิตรกรก็จะหยิบผ้าใบขึ้นมาแล้วเขียนอารมณ์นั้นลงไป คนที่เป็นกวีก็เหมือนกัน เขาจะใช้คำแค่ไม่กี่คำถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงไป"


พรหมมินท์ สุนทระศานติก สถาปนิกอิสระและอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Jazz Seen เจ้าของคอมลัมน์ Jazz for Art′s Sake กำลังพูดถึงความรักในดนตรี ศิลปะ และสถาปัตยกรรมของเขาให้แก่คนที่มาฟังงานเสวนา "สนทนา ภาษา ดนตรี" เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา  เขาเล่าถึง "ความอัศจรรย์ของดนตรี แม้ไม่รู้จักตัวโน้ต", แนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ของดนตรีและภาพวาด และมิวายเชื่อมโยงศาสตร์แห่งเสียงเพลงเข้ากับสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเคี่ยวกรำกับมันมากว่า 20 ปี

"ในทางสถาปัตย์ฯ เรามีการแบ่งแยกระหว่าง สิ่งก่อสร้าง (building) กับสถาปัตยกรรม (architecture)  เมื่อเราพูดถึงการใช้งาน พูดถึงเรื่องของโซนนิ่ง มันคือสิ่งก่อสร้าง ไม่ใช่สถาปัตยกรรม แต่ถ้าเราเข้าไปใช้มันแล้วเห็นว่า โอ้โห แสงที่ผ่านเข้ามามันสวยมาก เวลาเราเดินผ่านไปทำให้เราได้กลิ่นไม้ ได้กลิ่นดิน เราเห็นแสงที่กระทบกับผิวน้ำ นี่คือคุณสมบัติของสถาปัตยกรรม ซึ่งมันอยู่นอกเหนือไปจากฟังก์ชั่นการใช้งาน  ในทางภาพยนตร์หรือวรรณกรรมก็จะมีทั้งประเภทที่มันรับใช้แต่ฟังก์ชั่นอย่าง เดียว กับหนังหรือวรรณกรรมที่เป็นศิลปะจริงๆ"


นครินทร์ ธีระภินันท์ (กอล์ฟ ทีโบน), พรหมมินท์ สุนทระศานติก

พรหมมินท์บอกว่า ศิลปะทุกแขนงสามารถสื่อสารกับคนได้ เกณฑ์ในการประเมินคุณค่าทางศิลปะล้วนแต่เหมือนกัน  ทั้งดนตรี สถาปัตยกรรม วรรณกรรม หรือภาพยนตร์ ทั้งหมดนี้ล้วนมีรูปแบบ (form) และมีองค์ประกอบ (composition) ด้วยกันทั้งนั้น

"เวลาเราดูบอลบราซิล แล้วไปดูบอลอังกฤษ เราจะรู้ว่ามันคนละเรื่องกันเลย บอลอังกฤษมีแบบแผน มีฟอร์ม พอไปดูบอลเยอรมันก็จะเห็นว่าแข็งกระโด๊กเลย ฟอร์มของฟุตบอลต่างกันแม้ว่าจะเกิดจากการที่คนวิ่งไปวิ่งมาเหมือนกัน เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรม เวลาที่เรามองสถาปัตยกรรมของบราซิล มันมีสีสันจัดจ้านมาก ในขณะที่สถาปัตยกรรมแบบอังกฤษนั้นมีแบบแผนตายตัว ส่วนสถาปัตยกรรมเยอรมันก็จะแข็งมากๆ เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรม ดนตรี ฟุตบอล เหล่านี้มันสะท้อนถึงกันหมด ศิลปะทุกแขนงมันเหมือนกันหมด เพราะมันถูกสร้างมาจากคนในชาตินั้นๆ"

วกกลับมาที่เรื่องดนตรี

นอกจากจะพูดคุยถึงความงาม ของดนตรี ทั้งการทิ้งสเปซของเสียง ทั้งเรื่องของ "บุคลิกภาพในโทนเสียง" แล้ว พรหมมินท์ยังย้ำนักย้ำหนาว่า ดนตรีมิได้เป็นแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ในดนตรียังมี "เนื้อหา" ด้วย


"เราเปิดวิทยุทั้งวัน แต่เราจะไม่ได้ยินดนตรีที่มันมี "ประเด็น" เลย  เนื้อหาของดนตรีเปลี่ยนไป ตอนนี้ดนตรีเป็นแค่ความบันเทิง เราเคยฟังเพลงแบบ บ๊อบ ดีแลนที่สามารถจะปลุกคนเป็นล้านๆคนออกมาบนท้องถนนได้ มันมีพลังมากขนาดนั้น แต่ปัจจุบันมันไม่มีแล้ว มันเป็นดนตรีที่แฝงไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ  ซึ่งมันทำให้เราลืมไปว่า มันมีดนตรีที่เป็นศิลปะจริงๆ"

"นักดนตรีก็เหมือนกับพ่อครัวที่ปรุงอาหาร พ่อครัวไม่มีสูตร แต่ใช้ความรู้สึกในการปรุงอาหาร นักดนตรีก็จะมีเซนส์อย่างนี้เหมือนกัน นักดนตรีที่กางโน้ตเล่นก็ไม่ต่างกับพ่อครัวที่กางตำราปรุงอาหาร มันจะไม่ได้รสชาติเลยหากนักดนตรีไม่ข้ามจากเรื่องของเทคนิคไปสู่ สุนทรียศาสตร์ เราในฐานะคนฟังไม่จำเป็นต้องไปเข้าใจเรื่องเทคนิค เราเข้าใจสุนทรียภาพของมันก็พอ มีคนมากมายที่ไม่รู้เรื่องดนตรี แต่พวกเขารับรู้ได้"



นอกจากความรื่นรมย์ของเสียงเพลง "Down Here Below" (โดย Abbey Lincoln) ,"Flaminco sketches" ของ Miles Davis และ "In a Landscape" (โดย John Cage) [คลิกเพื่อฟังเพลง] ฯลฯ แล้ว ในเย็นวันนั้น พรหมมินท์ยังได้ทิ้งท้ายกับผู้มาร่วมเสวนาของเขาว่า

"ถ้าเราไม่สามารถที่จะมีจิตใจที่ละเอียดอ่อนได้ เราก็จะไม่อาจรับรู้เรื่องพวกนี้ การฟังดนตรีต้องอาศัยความรู้สึก ไม่ใช่ความคิด"

เหมือนกับที่เขาเองก็เคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้...

"ผมเล่นดนตรีไม่เป็น แต่ผมเข้าใจ"

1 ความคิดเห็น:

  1. Videoslots777 - YouTube
    Youtube Videoslots777, The best casino website, casino to play slots and casino games in your You can find video slots on YouTube and convert youtube video to mp3 Facebook,  Rating: 3.8 · ‎944 votes · ‎Free · ‎Android · ‎Game

    ตอบลบ