วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554



ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ "อังศุมาลิน" ในโลก "ดิจิทัล"







เพลงไทยเดิมนับวันยิ่งจะหาฟังอยากมากขึ้น เรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่สิ้นไปเสียทีเดียว เพราะยังมีกลุ่มที่อนุรักษ์เพลงเหล่านี้ไว้ ให้มีเสียงแว่วมากระทบหูบางเป็นครั้งคราว

แม้แต่ในสังคมไซเบอร์ของเครือข่ายโลกยุคดิจิทัล ก็ยังมีเพลงไทยเดิมให้สืบค้นมาฟังกันได้พอเสนาะหูอยู่บ้าง

โดยเฉพาะฝีมือตีขิมบรรเลงเพลงไทยเดิมของ "อาจารย์อ้อม" ที่ไพเราะจับใจ ทั้งท่วงทำนองและจังหวะความนุ่มนวล แม้จะผ่านการอัพโหลดขึ้นไว้บนอินเทอร์เน็ตแล้วก็ตาม เสียงที่ออกมาฟังใสแจ๋วชวนเคลิบเคลิ้ม อยากจะลุกขึ้นมาขยับแขนขาโยกไปตามทำนอง

เพลงที่อาจารย์อ้อมเลือก บรรเลงนั้นไม่ได้มีแค่เพลงไทยเดิม แต่ยังมีเพลงไทยสากลที่บรรเลงโดยขิม เครื่องดนตรีตัวเดียวที่สะกดผู้ชมผู้ฟังให้ตะลึงค้างอยู่หน้าจอ และคลิกเลือกฟังเพลงอื่นซึ่งขณะนี้มีอัพโหลดไว้บนอินเทอร์เน็ตเกือบ 200 เพลงแล้ว

ใครจะคิดว่าหญิงสาวผิวขาวร่างเล็กคำนวณอายุจากภาพที่เห็น ไม่น่าจะเกินเลข 3 ที่คนในโลกไซเบอร์เรียกว่า "อาจารย์อ้อม" ผู้สร้างเสียงดนตรีไทยประดับบนยูทูบให้ชาวไทยและชาว

ต่างชาติได้ชื่นชมด้วย มียอดคลิกชมนับหมื่นคน

มีดีกรีเป็นถึงอาจารย์จบปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา แถมยังเป็นสาขาชื่อดัง จบในคณะที่ไม่ธรรมดาเสียด้วย

"ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ" หรืออาจารย์อ้อม อายุ 32 ปี เป็นอาจารย์ประจำสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือที่รู้จักในชื่อ "บางมด" เป็นนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก สาขาวิชา Mechanical Engineering ที่มหาวิทยาลัยคาร์นีกี้ เมลลอน (Carnegie Mellon University : CMU) ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

อาจารย์อ้อมใช้เวลาเรียนที่ สหรัฐ อเมริกาถึง 10 ปี และยังได้รับเหรียญทองตอนปริญญาตรี กระทั่งเรียนจบด็อกเตอร์และกลับมาเมืองไทยได้ 4 ปีแล้ว มาเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์

ดังนั้น การใช้ชีวิตตัวคนเดียวที่เมืองนอกเป็นเวลานาน อาจารย์อ้อมจึงต้องหาอะไรทำเพื่อให้คลายความคิดถึงบ้าน เธอจึงเริ่มมองหาสิ่งที่ถนัดและชอบเป็นพิเศษนับตั้งแต่แม่พาไปเข้าคอร์สปรบ มือเข้าจังหวะตั้งแต่ 7 ขวบ ก่อนจะพาเธอไปทำความรู้จักกับเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งคือ ขิม ซึ่งมันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปแล้ว

"ขิม" จึงเป็นทั้งเพื่อนและเครื่องดนตรีที่คลายความเหงา อีกทั้งสร้างความบันเทิงให้กับเธอในเวลาที่ต้องอยู่คนเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอรักและถนัดที่สุด

หากใคร ได้ลองฟังเสียงเพลงที่อาจารย์มหาวิทยาลัยบางมด ผู้นี้บรรเลงกับหู รับรองจะต้องหลงใหลในท้วงทำนองของเสียงขิมแบบไม่มีสะดุด เสมือนกับว่าขิมและผู้ตีกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน

เสียงขิม ที่ตีโดยอาจารย์อ้อมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในยูทูบเท่านั้น ก่อนหน้านี้อาจารย์อ้อมได้นำเครื่องดนตรีไทยไปเผยแพร่ถึงสหรัฐอเมริกา โดยใช้ความสามารถที่ตัวเองมีอยู่นำขิมไปตีให้ฝรั่งฟังในงานเผยแพร่วัฒนธรรม ที่นักเรียนไทย จับกลุ่มกันทำกิจกรรมขายอาหารไทยเอาเงินเข้าสมาคม มีการจัดการแสดงขายตั๋วให้ฝรั่งเข้ามาดู คนอเมริกันจะไม่มีเครื่องดนตรีแบบนี้ ส่วนคนจีนคนยุโรปอาจจะพอคุ้นเคยอยู่บ้าง

ส่วนความพิเศษที่บรรดาแฟนคลับชื่นชอบไม่ได้มีแต่เสียงเพลงไทยเดิมเท่านั้น

อาจารย์ อ้อมได้นำเครื่องดนตรีขิมมาปรับโน้ตแต่งทำนองให้เข้ากับเพลงพ็อปเบา ๆ โดยเฉพาะเพลงที่กำลังฮิต จนหลายคนติดอกติดใจอยากจะตีขิมบ้าง ขอสมัครเป็นลูกศิษย์ แต่อาจารย์ผู้นี้ขอสอนแค่วิชาวิศวกรรมที่ได้ร่ำเรียนมา
ส่วน ครูสอนดนตรีขอเว้นไว้ก่อน เนื่องจากเกรงใจอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชามาให้ หากจะสอนจริงจังคงต้องไปขออนุญาตให้เรียบร้อยเสียก่อน แต่ก็ใจดียอมจัดเวิร์กช็อปเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ผู้ที่สนใจแต่ยังไม่ยอมเปิดรับลูกศิษย์คนใดเด็ดขาด

อาจารย์อ้อม เล่าถึงแฟนคลับตัวน้อย ๆ ที่ได้ฟังเพลงผ่านยูทูบแล้วติดต่อมาจนรู้ว่าอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เด็กคนนั้นรีบปั่นจักรยานมาหาถึงหน้าบ้านและบอกว่าอยากพบตัวจริง มายืนกดกริ่งอยู่หน้าบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ เธอก็ได้ให้คำแนะนำไปตามสมควรที่เด็กจะรับได้

แต่ยืนยัน "ไม่รับสอนค่ะ"

ดัง นั้น จะเห็นว่ามีบรรดาแฟนคลับร้องขอให้อาจารย์อ้อมเปิดคอร์สสอนดนตรี แต่ก็ไม่เคยสำเร็จเสียที เพราะสิ่งที่นักดนตรีผู้นี้มีนอกจากพรสวรรค์แล้ว เธอยังมีความสามารถชนิดที่ว่าลอกเลียนแบบได้ยาก แค่ฟังเสียงเพลงเธอก็รู้แล้วว่าต้องใช้โน้ตตัวไหน



การนำตัวโน้ตในเพลงสากลไปดัดแปลงในเครื่องดนตรีไทย ต้องเพิ่มเสียงแฟลตกับเสียงชาร์ปเข้าไปด้วย จะค่อนข้างยากเพราะต้องแปลงเครื่องดนตรีด้วย

แม้จะเห็นว่าอาจารย์อ้อมบรรเลง ดูง่าย ๆ แบบไม่ต้องมองยังตีไม่ตกร่อง ก็เพราะความสามารถล้วน ๆ

"ความ แตกต่างระหว่างเพลงไทยเดิมกับเพลงสมัยใหม่ เสียงดนตรีจะไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะดนตรีไทยมีแต่เสียงโด เร มี ฟา ซอล ลา ที ไม่มีเสียงชาร์ปเสียงแฟลต และการแบ่งช่วงตัวโน้ตก็ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น การเอาเครื่องดนตรีไทยมาเล่นเพลงสากล ต้องทำเครื่องดนตรีของเราให้เป็นเสียงเดียวกับดนตรีสากลให้ได้

วิธี การก็ยากนิดหนึ่ง ต้องมีขิมที่จะต้องจูนให้เข้ากับระบบเสียงให้ได้ ถ้าเล่นเพลงไทยเดิมจะเล่นขิมตัวเล็กที่จะมีอยู่ 7 หย่อง แต่ถ้าจะเล่นเพลงสากลก็จะใช้ตัวใหญ่ จะสามารถปรับให้เข้ากับเพลงสากลได้ จะมีหย่องเพิ่มขึ้น และมีสายเพิ่มมากขึ้น

ขิมที่ใช้เล่นกับเครื่อง ดนตรีสากลก็มีบ้างแล้วชื่อ ขิมโครมาติค เป็นเครื่องดนตรีขิมเฉพาะที่คนเริ่มคิดค้นขึ้นมา จะมีทั้งชาร์ปทั้งแฟลตในตัวเดียว แต่ของอ้อมมาปรับจูนเอง แต่ถ้าเล่นขิมโครมาติคระยะห่างของหย่องก็ต่างกัน อาจจะตีโน้ตผิดได้" ด็อกเตอร์สาวกล่าว

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เสียงเพลงจากขิมของอาจารย์ อ้อม มีเสียงโน้ตครบทุกตัวทำให้การบรรเลงไหลลื่นน่าฟัง และการนำเสียงขิมมาผสมผสานกับเสียงขลุ่ย เสียงเปียโนได้อย่างลงตัว ล้วนเป็นคนที่ติดต่อเข้ามาเอง อยากจะขอมาร่วมกันบรรเลงเพลง จนมีคนเข้าไปสอบถามเป็นจำนวนมากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

"เล่นยังไง เรียกว่าอะไร คนชอบเล่นดนตรีมีเยอะ แต่เราเองไม่มีพื้นที่ให้เขา"

แม้อาจารย์อ้อมจะยังไม่รับสอน แต่ก็ยังช่วยถ่ายทอดเทคนิคการจับไม้ วิธีการนั่ง การสะบัดมือช้า ๆ แล้วเร่งเร็วขึ้นต้องทำอย่างไร

มี คนยกให้อาจารย์สอนวิศวกรรมหุ่นยนต์ท่านนี้เป็นไอดอล ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาสนใจในดนตรีไทย ผลักดันให้พวกเขาอยากเล่นขิมเป็นบ้าง

ฉะนั้น "อย่ามัวแต่คิดให้ลงมือทำเลย ถ้ามีไอเดียอะไรก็ลงมือทำ อย่ามัวแต่คิดไปว่าจะทำดีหรือไม่ทำดี เพราะจะเสียโอกาสไป"
ทั้ง นี้และทั้งนั้นกว่าที่อาจารย์สาวผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จะเรียนจนจบปริญญา เอกและตีขิมได้ขั้นเทพขนาดนี้ เพราะความขยันหมั่นเพียรในการฝึกฝน ฝึกซ้อม และมีใจรัก จึงทำให้เธอประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง

ใคร ที่ยังไม่ได้เป็นแฟนคลับของเธอคนนี้ ต้องรีบเข้าไป "กดไลก์" ในเพจเฟซบุ๊กกันได้แล้ว นอกจากจะมีเพลงฟังเกือบทุกวัน ยังได้ร่วมทำกิจกรรมดี ๆ ช่วยสังคมที่อาจารย์สาวท่านนี้ลงทุนลงแรง เช่นเดียวกับอุทกภัยที่ผ่านมา




*
สุชาฎา ประพันธ์วงศ์ : เรื่อง

"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" 30 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2554

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1322648266&grpid=09&catid=no

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น