วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554



 

สุขเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ของนักกีตาร์ไทย ระดับนานาชาติ

ชื่อของ "อาจารย์โน้ต" ณัฐวุฒิ รัตนกาญจน์ อาจเป็นแค่ "ใครสักคนที่ไม่รู้จัก" สำหรับคนทั่วไป หากในวงการกีตาร์คลาสสิกทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในฐานะนักกีตาร์คลาสสิกฝีมือเยี่ยมที่ เปิดการแสดงมาแล้วกว่า 15 ประเทศ และยังเป็นผู้จัดงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล กีตาร์ เฟสติวัล ที่จัดขึ้นในบ้านเราติดต่อกันมาแล้วถึง 11 ปี

ณัฐวุฒิ ซึ่งปัจจุบันอายุ 30 ปี บอกว่า ก่อนหน้านี้เขาก็เริ่มต้นเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ที่พอเริ่มจับกีตาร์ตอนอายุได้ราว 15-16 ปี ก็สนใจในกีตาร์ไฟฟ้า จากนั้นก็ฟอร์มวงเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ กระทั่งปีเศษๆ ให้หลัง ระหว่างไปเดินหาซื้อซีดี และได้ยินเสียงกีตาร์คลาสสิกเป็นครั้งแรก ความคิดก็เปลี่ยนแปลงไป

"ผมเห็นลุงคนหนึ่ง ท่านั่งเล่นกีตาร์เขาแปลกๆ เลยซื้อซีดีเขามาฟัง ฟังแล้วก็ตกใจ เฮ้ย! กีตาร์ตัวเดียวเล่นได้ขนาดนี้เลยเหรอ" ณัฐวุฒิเล่าประกอบท่าทางตื่นเต้นอย่างออกรส

ภาพ ที่เห็นและเสียงที่ได้ยินในครั้งนั้นแหละที่ณัฐวุฒิบอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนของ ชีวิต เพราะเขาตัดสินใจทันทีที่ฟังจบว่า อยากเล่นได้อย่างนั้นบ้าง คิดแล้วก็หยุดเล่นกีตาร์ไฟฟ้า และเริ่มต้นใหม่ด้วยการไปเรียนกีตาร์คลาสสิกตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น

เริ่มโดยแม้จะมี "ความฝัน" ซุกซ่อนไว้บ้าง แต่ก็ไม่มั่นใจหรอกว่าจะทำได้สำเร็จ

"เป็นความฝันของเด็กๆ ที่อยากเอากีตาร์ไปเล่นรอบโลก ไม่รู้หรอกว่าจะไปด้วยวิธีไหน แต่ฝันไว้ก่อน" เขาบอกพลางหัวเราะ

จาก นั้นก็เริ่มสานฝันด้วยการพยายามแสดงฝีมือเท่าที่โอกาสจะให้ จากพื้นที่เหนือสุดจรดใต้สุดของประเทศไทย เขาไปหมด ไปแม้กระทั่งแคมป์นักกีตาร์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตอนนั้นเองที่เส้นทางเริ่มเปิดให้ได้เดินทางไปแสดงในหลายประเทศ

ฟังดูเหมือนไม่ยาก

แต่ไม่ใช่

เพราะ กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เขาต้องใช้เวลาซ้อมถึงวันละ 10 ชั่วโมง เนื่องจากรู้ตัวดีว่าเริ่มช้ากว่าคนอื่น และการซ้อมหนักคือหนทางเดียวที่จะไปสู้กับใครๆ ได้

"ถามว่าท้อไหม ก็ไม่นะ เหมือนเราตั้งใจ เราเล่นแล้วเรามีความสุขไง ก็เลยไม่ท้อ"
ไม่ ท้อเหมือนตอนเข้าร่วมการแข่งขันกีตาร์หลายครั้ง แล้วแพ้บ้าง ชนะบ้าง เพราะมองว่าผลลัพธ์คือ "เรื่องธรรมดา" สำคัญที่สุดอยู่ที่ระหว่างทางของการไปสู่เป้าหมายต่างหาก

"การแข่งไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิต เพราะท้ายที่สุดพอเรียนจบแล้วต่างหากคือชีวิตจริง"
เขา เองตอนเรียนจบจากสาขาดนตรีตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ก็มีสภาพไม่ต่างจากนักกีตาร์คนอื่นๆ ที่ต้องขวนขวายหางานทำ

"แต่ใน เมืองไทยมันยังไม่สามารถเล่นเป็นอาชีพได้นะ อย่างมากก็ได้เล่นตามโรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งผมไม่ชอบเลย จึงพยายามหาตลาดของตัวเองที่ต่างประเทศ"

เริ่ม ด้วยการเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะมีงานแสดงให้ทำด้วยในระหว่างนั้น แต่ก็ต้องผิดหวัง ทั้งจากระบบการเรียนการสอนที่เขาคิดว่าตัวเองถูกตีกรอบการเล่นให้เป็นไปตาม ที่คนสอนต้องการมากเกินไป ขณะเดียวกันงานแสดงดนตรีที่คิดว่าจะมี การหาไม่ได้

"ผมไม่แฮปปี้ก็เลยหนีกลับมาเลย" เขาบอกตรงๆ

ถึงกระนั้นใจเขายังสู้เต็ม 100

"คือเราแขวนเป้าของตัวเองไว้ว่าอยากไปตรงนี้ให้ได้ แล้ววันไหนท้อ ก็กลับไปนั่งดูเป้าหมาย แล้วตะกายใหม่"

เขา เองตะเกียกตะกายเอางานของตัวเองไปเสนอหลายครั้ง ได้ผลตอบรับให้ไปเล่นหลายหน ทั้งในรูปของการเป็น 1 ในศิลปินที่ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรี หรือการแสดงเดี่ยว

ปัจจุบันณัฐวุฒิเป็นอาจารย์สอนกีตาร์ที่ รับ ทั้งคลาสส่วนตัว, สอนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และกำลังจะไปเป็นอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัยดนตรีในประเทศมาเลเซีย
ขณะเดียวกันก็ยังมีคอนเสิร์ตแสดงในต่างประเทศทุกปี

ดูจะเป็นชีวิตที่ประสบความสำเร็จและมีความสุข-ทักไปอย่างนั้น แล้วเขาเองก็ตอบรับ

"แต่จริงๆ แค่ได้เล่นดนตรีผมก็มีความสุขแล้วนะตอนนี้

"เล่นเก่ง ไม่เก่ง ไม่สำคัญ เราเล่นแล้วมีความสุข มันก็จบแล้ว

"นักดนตรีมันก็แค่นี้ละ

"เพราะความหมายของดนตรีจริงๆ คือเล่นให้ตัวเองมีความสุข แล้วความสุขมันก็ถ่ายทอดให้คนฟังได้"



"กับคำว่า "นักกีตาร์คลาสสิกระดับโลก"
"อย่าเรียกเลย" ณัฐวุฒิรีบห้าม

"เรียกทีไรถูกด่าทุกที" เป็นเหตุผลที่มาพร้อมเสียงหัวเราะดังก้อง

"บางคนก็บอกผมซื้อตั๋วไปเล่นเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ถ้างานไหนไม่ออกค่าตั๋วให้ ผมก็ไม่ไปนะ"
งั้นตอนนี้อยู่ในระดับไหนล่ะ?

"เรียกว่านานาชาติคงจะดีกว่านะครับ"

ณ ขณะนี้ นานาชาติที่เขาตั้งใจไปเปิดการแสดงคือ 20 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำได้ครบในปีหน้า

"หลังจากนั้นเดี๋ยวว่ากันอีกที

"ถ้าโลกไม่แตกซะก่อนนะ" บอกพลางหัวเราะส่งท้ายมาอย่างดัง



หน้า 24,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่  15 ธันวาคม 2554 

*
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323920441&grpid=no&catid=08&subcatid=0800

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น