วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"ข้ายังได้คู่ชีวา...อา...ดนตรี!"


อาทิตย์ 23 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาได้ไปฟังดนตรีรอบชิงชนะเลิศ ในงาน "เซ็ทเทรด (เยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย" ครั้งที่ 14 ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพ

เป็นบุญหูบุญตา ถือเป็นมงคลปีใหม่จริงๆ

ปีหนึ่งได้ร่วมงานดีๆ อย่างนี้ครั้งเดียว ก็สุดคุ้มที่ผ่านปีมาได้ทุลักทุเลแล้วครับ...จริงนะเอ้า

เขา แบ่งเป็นสี่ระดับคือ ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และอุดมศึกษา ครึ่งวันเช้ากับครึ่งวันบ่าย ระดับละสิบคน ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาแล้ว รางวัลแบ่งเป็นเหรียญทองกับเหรียญเงินเท่านั้น เหรียญทองชนะเลิศ 1 รางวัล กับเหรียญทองรองชนะเลิศอีก 3 รางวัล อีกหกคนได้เหรียญเงินทั้งหมด

จำเพาะ เหรียญทองนอกจากเงินรางวัลแล้ว ยังได้ทุนการศึกษาด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกวิชาดนตรีปฏิบัติและยกเว้นค่าหน่วยกิต เป็นระยะเวลา 1 ปี

พิเศษอีกคือ ปีนี้ทางวิทยาลัย คัดเลือกนักดนตรีและนักร้องทางสากลสี่คน ส่งไปฝึกปฏิบัติตามความชำนาญพิเศษเฉพาะตน ยังสถาบันดนตรีที่ประเทศออสเตรีย ราว 6-8 สัปดาห์ ระหว่างปิดเทอมอีกด้วย

กลับมาแล้วจะเป็นนักดนตรีร่วมวง ไทยแลนด์ ฟีลฮาโมนี ออเคสตราได้อีก

 


ที่ ว่าเป็นบุญหูบุญตาก็คือ ได้ฟังได้ดูเยาวชนไทยที่มีความสามารถหลากหลายอย่างคาดไม่ถึง คือกติกาเขาไม่จำกัดจะใช้เครื่องดนตรีอะไรก็ได้ (ยกเว้นเครื่องไฟฟ้า) ไปจนถึงขับร้องทุกประเภททุกชาติภาษานั่นเลย

เราจึงได้เห็นได้ฟัง นักร้องโอเปรา เสียงต่ำสุดจนสูงปรี๊ด นักร้องเพลงลูกทุ่งไทย อย่างเพลง "นกขมิ้น" ของ ครูพยงค์ มุกดา หรือเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณอีสาน โปงลาง ขลุ่ย ระนาด ฆ้องวง ไวโอลิน คลาริเนต แซกโซโฟน เปียโน ฯลฯ

หลาก หลายเหล่านี้แหละมาอวดฝีมือประกวดประชันกันเรียกว่า ทลายกรอบเกณฑ์แบ่งกั้นหรือข้อจำกัดเรื่อง "รูปแบบ" มุ่งความเป็นเพลงที่มีสุนทรียะอันเป็น "เนื้อหา" เป็นหลัก

ตรงนี้จึงเป็นดังว่า คือเป็นบุญหูบุญตา เพราะฟังไม่เบื่อและตื่นตาตื่นใจ โดยตลอด

นักดนตรีหรือผู้ประกวดได้ "แสดงออก" ตามอารมณ์เพลงที่ตนถนัดอย่างแท้จริง ทั้งการแต่งตัวและลีลาท่าทางซึ่งสอดคล้องกันเต็มที่

นี่ จึงเป็นเวทีใหม่ที่ให้โอกาสแก่เยาวชนได้แสดงความสามารถทางดนตรีจนแทบเรียก ว่า "ไร้ข้อจำกัด" และเยาวชนเราก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทำได้ถึงที่สุด เต็มความสามารถของเขาจริงๆ

เป็นเสรีทางทัศนศิลป์ ของการประกวดดวดความดีและเป็นเสรีที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเราได้สัมผัสสุนทรี ยารมณ์ของดนตรีด้วยตัวเขาเอง ดัง "สัมผัสทิพย์" นั่นเทียว


จริง นะเอ้า คนเล่นดนตรีนั้น ถึงที่สุดจะมีอยู่ระดับหนึ่งเหมือนได้สัมผัสทิพย์ คือทิพยธาตุของรสไพเราะอันรู้ได้เฉพาะตน ที่จริงไม่เฉพาะดนตรีเท่านั้น ทุกศิลปะ นี่แหละเป็นสื่อให้จิตได้รู้สึกถึงความประณีตแห่งอารมณ์สุนทรีย์อันไปพ้นจาก ถ้อยคำพรรณาใดๆ

เว้นแต่จะสรรค์ได้เพียงคำเปรียบเทียบให้พอรู้สึกได้เช่นว่า

เรา ได้ยินเสียง "กระยางย่ำน้ำ" ในลีลาของนิ้วที่ย่างย่ำไปบนคีย์เปียโน บางครั้งก็ฉ่ำชื่นดัง "น้ำหยด" แล้วพลันก็แปรไปเป็นเสียง "กระหึ่มฝน" ประดังฟ้าแลแหล่งหลังธรณี

ขณะเสียงซัดส่ายของขิมนั้นปาน "พิรุณร่ำ"

ลีลาร่ายหยางฉิน (เครื่องดนตรีจีน) นั้น สะกดจิตสะกดใจด้วยมนต์อันเศก "หมอกไล้ขุนเขา"

แล้วพิณอีสานผสานกลองยาวก็พลิกพลิ้วให้ "ใบไม้พึมพำกับสายลม"

ได้ยินกระทั่ง "ม้าควบมาจากขอบฟ้า" และธารน้ำระริกระรินไหลอยู่ในมนต์นิ้วเปียโนแสนเสนาะ

ขลุ่ย พญาโศกของเด็กหญิงตัวน้อย กับเด็กหนุ่มนั้นโหยไห้ใจหาย ไม่น่าเชื่อเลยว่า นิ้วน้อยๆ กับลมปราณอันประจุลงในลำเลานั้นจะเศกขลุ่ยให้มีชีวิตชีวาได้ดังใจถึงปานนี้

เช่นเดียวกับคลาริเนตที่เป่าตัวมันเองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้บรรเลงเล่น

นี่ไงดนตรี

ดนตรีที่ ดร.สาทิศ อินทรกำแหง เคยรำพันเป็นบทกวีไว้ในชื่อ "ดนตรี" บทท้ายว่า

"ถึงข้าอยู่ดอนดงพงไพรกว้าง

ถึงชีพข้าอ้างจ้างสักเพียงไหน

ถึงข้าทุกข์ตรอมตรมระบมใจ

ข้ายังได้คู่ชีวา...อา...ดนตรี!"
 

ได้ เห็นได้ฟังเด็กของเราเยาวชนของเราในงานนี้ นอกจากจะเป็นบุญหูบุญตา ดังว่าแล้ว ก็ยังได้รู้สึก "อิ่มใจหายห่วง" คือ อิ่มใจที่เรามีเด็กดีเด็กเก่งอวดได้ไม่แพ้ใครในโลกแล้ว ก็ยังหายห่วงที่นักดนตรีทุกคนเขามีความสุขเป็นความสุขในขั้นที่เรียกว่า "ปีติ" เป็นความสุขประณีตลุ่มลึกอันยากที่บุคคลธรรมดาจักเข้าถึงได้

ใคร ก็ตามที่มีความสุขถึงขั้นนี้ได้ ย่อมไม่มีวันตกต่ำด้วยเขาจะเศกสร้างขึ้นมาด้วยตัวเองได้เสมอตามต้องการไม่ ว่าเขาจะอยู่ในอาชีพใดหรือแม้ไร้อาชีพ

ดนตรีจะยกใจเขาให้ได้ปีติอยู่เสมอไป



*
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : "ข้ายังได้คู่ชีวา...อา...ดนตรี!"
มติชนออนไลน์ 
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น