วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

"Room 39" แจ้งเกิดผ่านโลกออนไลน์



สินค้าสร้างสรรค์ "Room 39"
แจ้งเกิดผ่านโลกออนไลน์ -ใช้ตังค์น้อย...แต่ดังไว
 



การ สร้างมูลค่าเพิ่มของงานศิลปะในสื่อสมัยใหม่มีความจำเป็นมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะสินค้าที่เราเรียกว่า "ความคิดสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นสาขาที่ภาครัฐกำลัง ส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน ตามนโยบายครีเอทีฟอีโคโนมี

Room 39 กลุ่มคนทำดนตรี 3 คน ทอม-อิศรา กิจนิตย์ชีว์, มน-ชุติมน วิจิตรทฤษฎี, แว่นใหญ่-โอฬาร ชูใจ กำลังเป็นที่รู้จักจากยูทูบ และปัจจุบันกำลังเตรียมตัวทำซิงเกิลแรกกับค่าย Loveis ของ บอย โกสิยพงษ์ โดยที่มีแฟนคลับจากเฟซบุ๊กราว 2 แสนคน รอคอยซิงเกิลของพวกเขา

ทุกอย่างใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการก้าวเข้าสู่ความโด่งดัง กับการตลาดที่ลงทุนต่ำมาก ถ้าเทียบกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้

นับเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดของงานสร้างสรรค์บนสื่อสมัยใหม่บนโลกดิจิทัล

ลอง ดูสถิติจากทรูฮิต เว็บไซต์เอ็นเตอร์เทนเมนต์โตตลอด โดยเฉพาะ kapook.com, mthai.com ที่มีคนเข้ามาโดยเฉลี่ย 5 แสนครั้งในแต่วัน และเฟซบุ๊กก็มีสมาชิกโตตลอดต่อเนื่องในไทยกว่า 5 ล้านคน

ขณะที่การเข้าเว็บผ่านมือถือต่าง ๆ โดยเฉลี่ย อันดับหนึ่ง ไอโฟน 8 แสนครั้งในแต่ละวัน โนเกีย 2 แสนครั้ง ไอพอดเกือบ 1 แสนครั้งต่อวัน

จาก สถิติเหล่านี้พอจะชี้ชัดได้ว่า การนำเสนอดนตรี เพลง ต้องอาศัยช่องทางใหม่ ๆ ไม่แตกต่างจากการเฟ้นหาศิลปินบนเวทีบ้านทรูเอเอฟอะคาเดมี่, เดอะสตาร์, เคพีเอ็น เพียงแต่ทุกอย่างถูกเฟ้นมาโดยคนในโลกออนไลน์



Youtube เป็นสื่อที่แรกที่นำเพลงของ Room 39 เข้ามาสู่การรับรู้ของผู้คน "มน" หนึ่งในสมาชิกของวงเล่าว่า เริ่มต้นจากการทำกันเล่นๆ ที่อเมริกา ใช้อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ เครื่องมือที่มีอยู่แล้ว ต้นทุนไม่เกิน 3 หมื่นบาท อัดเสียงในห้องพัก แล้วโพสลงยูทูบในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา พอเดือนกันยายน 2553 เพลง "เข้ากันไม่ได้" กลายเป็นเพลงแนะนำในกระทู้เฉลิมไทย และถูกแนะนำต่อในกระทู้ เพลงของเว็บ pantip ตอนนั้นตัวเลขเพจวิวยูทูบเริ่มถีบตัวขึ้นหลักหมื่น ภายในเวลา 2 เดือน จากแรงเชียร์ของสมาชิก

จากนั้นก็เริ่มมีบทความแนะนำในหน้าแรกของเว็บ kapook.com เพลง"เข้ากันไม่ได้" ก็ยิ่งกระจายไปเร็วยิ่งขึ้น

ไล่ เลี่ยกันใน Facebook ที่ "มน" ตั้งใจจะแชร์ยูทูบให้กับเพื่อนในอเมริกา มีการแชร์ลิงก์ไปสู่เพื่อนของเพื่อนในเมืองไทย จนต้องเปลี่ยนจากเฟซบุ๊กธรรมดาเป็นเฟซบุ๊กแฟนเพจในปัจจุบันซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 แสนราย

แอปพลิเคชั่นในเฟซบุ๊กหลักก็คือ การลิงก์กับ youtube ซึ่งมีเพลงราว 30 เพลง และทำหน้าที่เชื่อมโยงแฟนคลับ บอกข่าวประชาสัมพันธ์ความเคลื่อนไหว ตารางงานโชว์ตามร้านต่าง ๆ เต็มไปถึงต้นเดือนหน้า

ปรากฏการณ์ที่ชัดที่สุดก็ตอนที่ออกงาน ของคลื่น "SEED 97.5 FM" มีคนมาฟังเพลงในงานนั้นร่วมพันคน และหลังจากออกรายการทูไนท์ โชว์ เมื่อต้นธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ภายในชั่วข้ามคืนก็มีสมาชิก Facebook เพิ่มขึ้นทันทีจาก 90,000 คน เป็น 130,000 คน

Twitter มีสมาชิกตามอยู่ 8,000 กว่าคน "มน" เล่าว่า คนไทยยังใช้ทวิตเตอร์น้อย เธอจึงใช้วิธีที่จะเชื่อมโยงระหว่างทวิตเตอร์กับเฟซบุ๊กแบบทูเวย์ ทำให้คนไม่เคยเข้าไปใช้เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลของกันและกัน

ในทางกลับกัน บรรดาแฟนคลับในแต่ละจังหวัดต่างก็ใช้เครื่องมือสื่อสาร มือถือต่าง ๆ อินเทอร์เน็ต โซเชียล เน็ตเวิร์กในการเชื่อมโยงกลุ่ม เช่น มีการถ่ายทอดสดเสียงผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อให้แฟนจากต่างจังหวัดได้ฟังเสียง มีการ ติดต่อผ่านเว็บบอร์ด เพื่อสั่งเสื้อกลุ่ม ถ่ายคลิปขึ้น เฟซบุ๊กของ Room 39 และของตัวเอง

วันนี้ ยูทูบมีเพจวิวรวม 30 กว่าเพลง มีคนเปิดแล้ว 27 ล้านครั้ง โดยเพลง "เข้ากันไม่ได้" มีคนเปิดมาแล้ว 2 ล้านครั้ง กับการเดินสายรับงานทั่วประเทศ และการ เตรียมตัวทำซิงเกิลกับค่ายเลิฟอีส รวมทั้งที่มาของรายได้จากการเป็นศิลปิน และอาจจะมีคอนเสิร์ตของตัวเองในอนาคต

พันทิป เฟซบุ๊ก กระปุก เอ็มไทย ยูทูบ ทวิตเตอร์ สื่อเหล่านี้มีความสามารถในการทะลุทะลวงไปยังคนรุ่นใหม่ได้สูง รวมทั้งบีบี ไอโฟน ไอพอด ไอแพด สมาร์ทโฟนต่าง ๆ และการมาของ 3 จี ที่จะทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมเพลงมีต้นทุนที่ต่ำ นำเสนอไปสู่สาธารณชน และเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น




*
ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4283  หน้า 25




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น