วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดนตรีและนาฏศิลป์ มีรากเหง้าร่วมกันทั้งสุวรรณภูมิ



คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


ร้องรำทำเพลง ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม มีปกหน้าเป็นลายเส้นรูป "หมอลำ-หมอแคน" ส่วนปกหลังเป็นลายเส้นรูป "ระบำรำเต้น" ในพิธีกรรม ทั้ง 2 รูปมีอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว

ลาย เส้นเป็นรูปต่างๆ ที่ยกมา ล้วนสลักอยู่บนเครื่องมือสัมฤทธิ์ที่มีอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว พบในเวียดนามภาคเหนือ นักโบราณคดีสมมุติเรียกเครื่องมือสัมฤทธิ์เหล่านี้ว่า "วัฒนธรรมดองซอน" (ดองซอนเป็นชื่อจังหวัดในภาคเหนือเวียดนาม) ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมบ้านเก่า (ที่กาญจนบุรี) กับวัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี)

3,000 ปีมาแล้วยังไม่มีชาติและประเทศเหมือนทุกวันนี้ ฉะนั้นเครื่องมือเครื่องใช้สัมฤทธิ์ กับหมอลำ-หมอแคน, ระบำรำเต้น จึงเป็นวัฒนธรรมร่วมของสุวรรณภูมิ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของพวกเดียว หากเป็นเจ้าของร่วมกัน คือเป็นของบรรพชนชาวสุวรรณภูมิที่เป็นอุษาคเนย์ทุกวันนี้ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย


*ถ้าดูเผินๆ จะเห็นว่าท่าทางในลายเส้นล้วนเป็น "สามัญลักษณะ" มียืด-ยุบ อย่งท่ารำโขน-ละคร ทุกวันนี้นั่นเอง จึงยกเป็นรากเหง้าของโขน-ละครของไทยได้

หลายคนอาจแย้งว่าหมอลำ-หมอแคน เป็นสิ่งแสดงความเป็น "ลาว" ก็ ขออธิบายว่านี่เป็นทรรศนะดูถูกของคนยุคกรุงเทพฯเท่านั้น เพราะในยุคกรุงศรีอยุธยาแล้ว แคนเป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูงที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาใช้บรรเลง ขับกล่อมพระเจ้าแผ่นดิน มีพยานหลักฐานตรงๆ อยู่ในวรรณคดีเรื่องอนิรุทธคำฉันท์ ออกชื่อ "แคน" ชัดๆ

หลัก ฐานอยุธยาดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานยุคก่อนหน้านั้นนับพันปี มีเอกสารต่างประเทศกล่าวถึงเครื่องเป่าน้ำเต้า (คือ แคน) แพร่กระจายในกลุ่ม ชนชั้นสูงทั้งอุษาคเนย์ทั่วผืนแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ

ข้อ ด้อยของการศึกษาดนตรีและนาฏศิลป์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย คือยกแต่การละเล่นในราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้นที่แสดง "ความเป็นไทย" เรียกดนตรีไทย เรียกนาฏศิลป์ไทย

     ส่วน การละเล่นของท้องถิ่นอื่นๆ ไม่เป็นไทย เลยยกให้เป็นพื้นเมือง เช่น ดนตรีพื้นเมือง นาฏศิลป์พื้นเมือง ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกจากบรรพชนคนไทยทุกวันนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่า หมอลำ-หมอแคน หรือโนรา, หนังตะลุง ฯลฯ

กระทรวงวัฒนธรรมควรทบทวนการ เรียนการสอนของสถาบันในสังกัดให้ทันสมัย อย่างมีสมอง ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องปรับปรุงการเรียนการสอนให้สอดคล้องหลัก ฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี

ถ้าร่ำเรียนเขียนอ่านแต่เรื่องโกหกพกลมอย่างที่เป็นมานานแล้ว สติปัญญา ก็อ่อนแอ กลายเป็นพวก "ทันสมัย แต่ไร้สมอง"

*
มติชนรายวัน วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น